โบราณวัตถุอายุพันปีที่สกลนครถูกทอดทิ้ง และตกอยู่ในภาวะเสี่ยง….อาจสูญหาย
ขณะเดียวกันเรากำลังจะเปิด “พิพิธพัณฑ์ภูพาน” ก็ต้องดูว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร
www.yclsakhon.com มีความเห็นว่าควรสร้างมาตรการกับเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่น เช่น อบต. และเทศบาล ให้จัดระบบการตั้งแสดง และดูแลรักษาอย่างเหมาะสม
ทุกครั้งที่ได้ชมบรรยายสรุปของจังหวัดสกลนคร จะได้ยินคำพูดว่า “สกลนครเป็นถิ่นอารยธรรมเก่าแก่นับพันปี.....มีสิ่งที่ดีงามมากมาย” แต่ในทางปฏิบัติยังมีโบราณสถานและโบราณวัตถุล้ำค่าถูกทอดทิ้งแบบไร้เยื่อใย และไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าภาพที่แท้จริง เช่น ภาพแกะสลักหน้าผาหินอายุหลายพันปี ที่ "ภูผายล" ถูกมือร้ายกระเทาะไปส่วนหนึ่ง...
ใบเสมาหินทรายเป็นศิลปะผสมระหว่างยุคทวารวดี กับอารยธรรมขอม (มีชิ้นเดียวในประเทศไทย) เดิมอยู่ที่วัดบ้านพันนา อ.สว่างแดนดิน หายไปสามสิบกว่าปีแล้ว .....เศษภาชนะดินเผายุคก่อนประวัติศาสตร์ที่ลานวัดบ้านดอนธงชัย อ.สว่างแดนดิน ถูกทิ้งกระจัดกระจายอยู่ตามพื้นดิน
ใบเสมาหินทรายศิลปะทวารวดีที่บ้านท่าวัด ริมหนองหาร และบ้านพันนา อ.สว่างแดนดินตั้งตากแดดตากฝนแบบทนได้ทนไป..... พระพุทธรูปสลักจากหินทรายศิลปะทวารวดี และศิลปะขอมตั้งเก็บไว้ที่เรือนไม้เก่าๆข้างกุฏิพระ บ้านท่าวัด ตำบลเหล่าปอแดง ริมหนองหาร มีหลวงตาแก่ๆดูแลไปวันๆ
รูปแกะสลักหินทรายศิลปะปาปวน "พาลีสู้กับสุครีพ" และ "เศียรพญานาค" ที่วัดพระธาตุนารายณ์เจงเวงถูกกองทิ้งใต้ต้นมะม่วงจนหญ้าขึ้นรกงูเข้าไปทำรังอยู่ได้......... ฐานโยนีที่บ้านท่าวัดกลายเป็นเครื่องมือหาเลขเด็ด ดูเละเทอะเต็มไปด้วยเศษธูปเทียน ผ้าแดง ตั้งตากแดดชนิดอยู่ได้ก็เก่ง
ที่เห็นโทนโท่แบบเต็มตาในวัดพระธาตุเชิงชุม “ฐานโยนี” วัตถุมงคลยิ่งของศาสนาฮินดูจากยุคขอมพันปี และตำนาน "หนองหารหลวง" กลายเป็นที่เขี่ยบุหรี่และถังขยะอยู่ที่หน้าประตูด้านทิศตะวันออก















เมื่อเห็นภาพอย่างนี้แล้วก็ต้องขอแรงกันละครับ ไหนๆเราได้ประชาสัมพันธ์อย่างเต็มปากว่า “สกลนคร...อดีตหนองหารหลวง เมืองเก่าแก่แห่งศาสนา และวัฒนธรรม” เห็นทีต้องทำอะไรสักอย่าง ถ้าเจ้าของท้องที่ไม่เอาไม่เห็นคุณค่า พิพิธภัณฑ์ภูพานก็ควรเอามาตั้งแสดงและรักษาไว้ให้ลูกหลานได้ชื่นชมมรดกจากบรรพกาล
ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนครก็มาใหม่และได้แสดงวิสัยทัศน์ที่น่าชมเชย นายกเทศมนตรีเทศบาลนครสกลนครก็กำลังจะเลือกตั้งใหม่ สส.ก็ได้คนใหม่ยังอุ่นๆอยู่ ในการนี้ yclsakhon จะช่วยออกความคิดเห็นในเชิงวิชาการ “ควรจะทำอย่างไร” ส่วนการปฏิบัติต้องเป็นบทบาทของส่วนราชการ หรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญพี่น้องชาวสกลนครตัวจริงเสียงจริงต้องมีส่วนร่วมในการดูแลรักษามรดกอันล้ำค่าของเรา ไม่งั้นจะซ้ำรอย “รูปสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์” ที่ปราสาทพนมรุ้ง กว่าจะทวงคืนมาได้เล่นเอาหืดขึ้นคอ