ปราสาทนารายณ์เจงเวง
ในมุมมองของดาราศาสตร์ ความเชื่อ และศาสนา
ปราสาทนารายณ์เจงเวงหันหน้าไปหาทิศตะวันออกแท้ ทำมุมกวาด 90 องศาจากทิศเหนือ (azimuth 90)
ปราสาทนารายณ์เจงเวงในมุมมอง 3 เวอร์ชั่น
ปราสาทนารายณ์เจงเวง เป็นชื่อที่เรียกขานในยุครัตตนโกสินทร์และไม่มีข้อมูลยืนยันว่าชื่อดั้งเดิมเป็นอะไร ตั้งอยู่ที่บ้านธาตุนาเวง อำเภอเมืองสกลนคร
1. ตำนานที่กล่าวถึงการแข่งขันระหว่าฝ่ายชายและฝ่ายหญิงเพื่อแย่งชิงการครอบครองพระอุรังคธาตุที่พระมหากัสปะนำมาจากอินเดีย ฝ่ายหญิงสร้างปราสาทนารายณ์เจงเวง ฝ่ายชายสร้างปราสาทภูเพ็กบนยอดภูเขา ลงเอยสุดท้ายฝ่ายหญิงชนะด้วยมารยาสตรีที่หลอกล่อให้ฝ่ายชายไม่สนใจทำงานจนกระทั่งเกือบรุ่งสางฝ่ายหญิงทำโคมไฟลอยขึ้นบนฟ้าและหลอกว่า "ดาวเพ็กขึ้นแล้ว" ให้หยุดก่อสร้างและเอาผลงานมาเปรียบเทียบกัน ฝ่ายชายจึงรู้ว่าถูกหลอกแต่ก็สายไปแล้ว กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จมาตรวจราชการเมื่อเดือนมกราคม ปี พ.ศ. 2449 ท่านคงจะได้รับทราบตำนานดังกล่าวจึงมีบันทึกเรียกปราสาทหลังนี้ว่า "ปราสาทอรดีมายา" อนึ่ง นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสชื่ออะโมนีเยได้เดินทางมาที่สกลนครก่อนกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ราว 5 ปี มีบันทึกกล่าวถึงตำนานเค้าโครงนี้ว่า "เป็นตำนานระดับภูมิภาค" เพราะการแข่งขันระหว่างชายหญิงเกิดขึ้นอีกหลายแห่ง เช่น ปราสาทพิมายกับปราสาทพนมวัน ปราสาทวัดภู (ที่จัมปาสัก)กับพระธาตุพนม และที่กรุงพนมเป็ญ กัมพูชา
2. ทางโบราณคดีถือว่าเป็นโบราณสถานที่สมบูรณ์ที่สุดของจังหวัดสกลนครจากข้อมูลของกรมศิลปากรระบุว่าสร้างในสมัย “ศิลปะขอมปาปวน” ตรงกับแผ่นดินของพระเจ้าอุทัยอาทิตย์วรมัน ที่ 2 ระหว่าง ค.ศ.1050 — 1066 (พ.ศ. 1593 — 1609) หรือช่วงต่อระหว่าง พุทธศตวรรษ ที่ 16 — 17
3. แง่มุมดาราศาสตร์ ปราสาทหลังนี้ออกแบบให้ทำมุมกวาด 90 องศาจากทิศเหนือ (Azimuth 90) โดยหันหน้าเข้าสู่ทิศตะวันออกแท้ หรือวสันตวิษุวัต (Vernal equinox) และมีท่อน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์หรือท่อโสมสูตรชี้ตรงกับทิศเหนือ ขณะเดียวกันก็ตั้งอยู่ในเส้นตรงกับปราสาทภูเพ็ก ณ เส้นรุ้ง 17 องศา 11 ลิปดา
ปราสาทภูเพ็ก ปราสาทนารายณ์เจงเวง และเกาะดอนสวรรค์ อยู่ในเส้นตรงเดียวกันที่ latitude N 17 11 เมื่อปี 2540 หอการค้าสกลนครเคยเชิญซินแสชื่อดังมาเป็นวิทยากรเรื่องฮวงจุ้ยของเมือง
ปราสาทปาปวนหันหน้าเข้าหาทิศตะวันออกแท้
ปราสาทปาปวนหันหน้าเข้าหาทิศตะวันออกแท้
ปราสาทปาปวนหันหน้าเข้าหาทิศตะวันออกแท้ (Due east)
ปราสาทนารายณ์เจงเวงมีสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ "บาราย" หรือไม่
เอกสารการขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร ประกาศในราชกิจจานุเบกษาขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2478 ระบุถ้อยคำว่า พระธาตุนารายณ์เจงเวง ต.นาเวง อ.เมือง จ.สกลนคร มีสิ่งสำคัญ 1.ปรางค์ก่อหินทรายสีชมพู
2.ฐานศิลาแลง (ไม่ปรากฏ "สระน้ำ")
แต่ในเอกสารเดียวกันกล่าวถึงพระธาตุดุม ต.งิ้วด่อน อ.เมือง จ.สกลนคร มีสิ่งสำคัญ
1.ปราสาทอิฐ 3 หลัง สร้างด้วยหินทรายสีชมพู
2.ฐานศิลาแลง
3.สระน้ำ
โดยหลักการของปราสาทขอมต้องมีสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่เรียกว่า "บาราย" แต่ทำไมปราสาทนารายณ์เจงเวงจึงไม่ปรากฏ "บาราย" อยู่ในสาระบบ ความเห็นส่วนตัวเชื่อว่าการสำรวจพื้นที่ในจังหวัดสกลนครโดยกองรังวัดของกรมศิลปากรในปี พ.ศ.2476 เพื่อประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมื่อปี พ.ศ.2478 อาจจะไม่เห็นบารายแห่งนี้เนื่องจากสภาพภูมิประเทศเป็นป่า หรือบารายตื้นเขินจนเหมือนพื้นดินทั่วๆไป
อนึ่ง ได้รับการบอกเล่าจากเพื่อน ชื่อคุณนฤทธิ์ คำธิศรี เป็นปราชญ์เกษตรอยู่ที่อำเภอกุสุมาลย์ รู้จักกับเจ้าของที่ดินแปลงนี้และเคยมานั่งเล่นอยู่ที่ศาลากลางน้ำมองเห็นแนวก้อนหินศิลาแลงเรียงตัวอยู่ที่ขอบสระ แต่ไม่ทราบว่าเป็นอะไร เมื่อพิจารณาจากเรื่องราวและหลักฐานแวดล้อมทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี ประกอบกับภาพถ่าย Google Earth ทำให้เชื่อว่า "บาราย" ของปราสาทนารายณ์เจงเวง คือสระน้ำที่ปรากฏในภาพข้างล่างนี้ อย่างไรก็ตามทราบว่าปัจจุบันสระน้ำแห่งนี้เป็นที่ดินมีเอกสารสิทธิ์ของบุคคล
เปรียบเทียบภาพถ่าย Google Earth ระหว่างพระธาตุเชิงชุม พระธาตุนารายณ์เจงเวง พระธาตุดุม และปราสาทบ้านพันนา แสดงให้เห็นว่าปราสาทขอมมีสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่เรียกว่า "บาราย" ถ้าเป็นเช่นนี้ปราสาทนารายณ์เจงเวงก็ต้องมีบารายเช่นกัน
ภาพถ่ายดาวเทียม Google Earth แสดงให้เห็นปราสาทนารายณ์เจงเวง และสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ “บาราย” ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ดินของประชาชน อยู่ด้านหลังตลาดสดบ้านธาตุนาเวง อำเภอเมืองสกลนคร
ภาพถ่ายทางอากาศ ปี พ.ศ.2516 มองเห็นร่องรอยของ "บาราย" ปราสาทนารยณ์เจงเวงชัดเจน
เปรียบเทียบภาพถ่ายระหว่างปราสาทนารายณ์เจงเวง (พ.ศ.2516) กับปราสาทเชิงชุม (พ.ศ.2489) จะเห็นว่าตำแหน่งที่ตั้งของ "บาราย" อยู่ทางทิศเหนือของปราสาททั้งคู่ แสดงว่าสไตล์การวางผังก่อสร้างมาในแนวคิดเดียวกัน
สระน้ำที่เชื่อว่าเป็น "บาราย" ของพระธาตุนารายณ์เจงเวง และกลางน้ำมีศาลาที่คุณนฤทธิ์ คำธิศรี กล่าวถึง
เปรียบเทียบภาพถ่ายระหว่าง ปี 2514 2546 และ ปัจจุบัน
ปราสาทปาปวน ต้นแบบของปราสาทนารายณ์เจงเวง
เปรียบเทียบความเหมือนในรูปแบบการก่อสร้างและศิลปะระหว่างปราสาทปาปวน เมืองเสียมราช ประเทศกัมพูชา กับปราสาทนารายณ์เจงเวง เมืองสกลนคร ประเทศไทย บ่งชี้ให้เห็นว่ามีแบบแผนการก่อสร้างและศิลปะคล้ายกันมาก ด้วยเหตุผลนี้กรมศิลปากรจึงให้ความเห็นว่าปราสาทนารายณ์เจงเวงอยู่ในยุคสมัยปาปวน
เปรียบเทียบศิลปะจากภาพแกะสลักหินทรายของปราสาทนารายณ์เจงเวง สกลนคร กับปราสาทปาปวน เสียมราช พบว่ามีความเหมือนกันมากแสดงว่าน่าจะสร้างในยุคสมัยเดียวกัน
ท่อโสมสูตร
ท่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ผนังด้านทิศเหนือของตัวปราสาท เป็นส่วนที่เชื่อมโยงกับฐานโยนีที่อยู่ภายในห้อง
อวตาลกอร์มะ จ้องมองไปยังดาวเหนือ เนื่องจากทิศเหนือเป็นสถานที่ตั้งเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นแกนของโลกและเป็นที่สถิตย์ของเทพเจ้า ในภาพจะเห็น GPS แสดงมุมเงยที่ 17 องศา เนื่องจากปราสาทหลังนี้ตั้งอยู่ที่เส้นรุ้ง 17 องศาเหนือ ดังนั้นตำแหน่งดาวเหนือจะอยู่ที่มุมเงยตามองศาที่ 17 (altitude 17)
ตามหลักการดาราศาสตร์ตำแหน่งดาวเหนือจะอยู่ที่มุมเงยเท่ากับองศาของเส้นรุ้ง ณ สถานที่นั้นๆ ในกรณีนี้ปราสาทนารายณ์เจงเวงตั้งอยู่ที่เส้นรุ้ง 17 องศาเหนือ ดาวเหนือก็จะอยู่ที่มุมเงย 17 องศา เช่นกัน
การพิสูจน์ทางคณิตศาสตร์ตามหลักการของ "ปีธากอรัส" ให้เห็นว่ามุมเงยของดาวเหนือเท่ากับองศาของเส้นรุ้ง ณ สถานที่นั้นๆ
เข็มทิศแสดงร่องน้ำศักดิ์สิทธิของท่อโสมสูตรชี้ไปทางทิศเหนือ
ปราสาทหลังนี้มีท่อน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ “ท่อโสมสูตร” เห็นได้ชัดเจนอยู่ที่ฐานด้านทิศเหนือ โดยมีรางยื่นออกมาจากประตูหลอกทิศเหนือ และปลายท่อเป็นรูปหัวเต่า น่าจะหมายถึง “อวตาลกอร์มะ” ของพระวิศนุ ซึ่งอยู่ในเรื่องราวของพิธีกวนน้ำอมฤต โดยพระวิศนุแปลงกายลงมาเป็นเต่ายักษ์ช่วยหนุนภูเขามันทราระซึ่งเป็นแกนสำหรับกวนทะเลน้ำนมไม่ให้จมลงในทะเล ทางออกของท่อโสมสูตรที่อยู่ภายในตัวปราสาท ด้านทิศเหนือ พระวิศนุบรรทมอยู่บนหลังอนันตนาคราช บนซุ้มประตูหลอกด้านทิศเหนือ ข้างเดียวกับท่อโสมสูตรที่อยู่ข้างล่าง
ปราสาทนารายณ์เจงเวงถูกวางให้สอดคล้องกับตำแหน่งทางดาราศาสตร์ทั้งสี่ทิศ
ที่ตรงกลางของธรณีประตูทิศตะวันออก ยังมีรอยขีดแสดงตำแหน่งทิศตะวันออกแท้ หรือ Vernal equinox เป็นช่องทางที่แสดงอาทิตย์ยามเช้าของวันที่ 21 มีนาคม จะผ่านเข้าไปภายในห้อง
ธรณีประตูทิศตะวันออก GPS ชี้ที่มุมกวาด Azimuth 90 องศา หรือ Equinox
เส้นแสดงทิศตะวันออกที่ประตูหลอก
ท่อโสมสูตรชี้ที่ทิศเหนือ
ที่พื้นหน้าประตูหลอกทิศใต้มีเส้นแสดงทิศใต้เหลืออยู่พอมองเห็นได้ เส้นนี้ตรงกับ center line ของประตูหลอก
หากพิจารณาภูมิประเทศย้อนหลังไปถึงสมัยนั้น ปราสาทนารายณ์เจงเวงตั้งอยู่บนที่สูง สามารถมองเห็นหนองหารที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 5 กิโลเมตรได้อย่างชัดเจน และแสงอาทิตย์ก็สามารถส่องเข้าหน้าประตูปราสาทอย่างตรงๆโดยไม่มีอะไรมาบดบัง แต่กาลเวลาผันเปลี่ยนไปความเจริญของบ้านเมืองเข้ามาแทนที่ ทำให้ภูมิประเทศถูกปรับเปลี่ยนเป็นตึกรามบ้านช่อง และสิ่งก่อสร้างนานาชนิด ภาพของปราสาทที่สร้างขึ้นโดยอิงปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์จึงเลือนหายไปอย่างน่าเสียดาย
ปราสาทหลังนี้มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องราวของพิธีกวนน้ำอมฤต เนื่องจากมีภาพแกะสลักของพระวิศนุและอวตาลกอร์มะ (เต่ายักษ์) ซึ่งเป็นความเชื่อของชาวขอมและยังตกทอดมาถึงพี่ไทยอย่างเราๆท่านๆในปัจจุบัน สนามบินสุวรรณภูมิอันอลังกาลของชาวไทยก็มีรูปปั้นขนาดยักษ์ของพิธีกรรมนี้ เพื่อความเป็นศิริมงคลแก่สนามบินของเรา น้ำอมฤตเป็นสิ่งที่บรรดาเทพและอสูรต้องการเป็นอย่างยิ่งเพราะก่อให้เกิดความคงกระพันเป็นอมตะ มีฤทธิ์เดชเหลือรับประทาน แต่ต้องใช้เวลากวนทะเลน้ำนมนานมากถึงล้านปี โดยให้ท่านพญานาคชื่อ "วาสุกรี" เป็นเชือกพันรอบภูเขา "มันทราระ" และใช้บรรดาเทพกับเหล่าอสูรช่วยกันดึงให้ภูเขาทำหน้าที่เสมือนไม้พายกวนทะเลน้ำนม อย่างไรก็ตามทั้งเทพและอสูรต่างอ่านกินกันในที เพราะวางแผนจะยึดเอาน้ำอมฤตเป็นของตนฝ่ายเดียว ในที่สุดเทพก็ชนะตามสูตรได้น้ำอมฤตไปกินโดยความช่วยเหลือของพระวิศนุ อย่างไรก็ตามระหว่างพิธีกวนทะเลน้ำนม ภูเขามันทราระทำท่าจะจมมหาสมุทร พระวิศนุจึงต้องแปลงกายลงมาเป็น "อวตาลกอร์มะ" หรือเต่ายักษ์ ทำหน้าที่หนุนไม่ให้ภูเขาจมน้ำทะเล ดังนั้นรูปปั้นพิธีดังกล่าวจึงต้องมีเต่ายักษ์ปรากฏกายอยู่ข้างล่าง
ปราสาทนารายณ์เจงเวง ได้รับการบูรณะโดยกรมศิลปากรซึ่งใช้วิธีการแบบฝรั่งเศส เรียกว่า "อนาสติโลซีส" (Anastylosis) โดยรื้อทุกชิ้นส่วนออกมาทำความสะอาด ซ่อมแซม และประกอบเข้าไปใหม่ตามเบอร์ที่กำกับไว้แต่แรก ปรากฏว่าปราสาทของเราอาจจะเข้าตำรา ซ่อมรถยนต์เสร็จยังมีชิ้นส่วนเหลือข้างนอกอีกมากโข แต่รถวิ่งได้ซะอย่าง เพราะหินจำนวนมากที่มีเป็นรูปแกะสลักสวยงามถูกกองทิ้งอยู่ใต้ต้นไม้มานานหลายปี เผลอๆอาจจะไปโผล่ที่ร้านค้าวัตถุโบราณหรือพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศ และเราๆท่านๆต้องไปทวงคืนเหมือกรณี "นารายณ์บรรทมสินธุ์"
ในความเห็นของผม เทศบาลเมืองสกลของเราได้สยายปีกเป็น "เทศบาลนคร" เรียบร้อยแล้วยังไงก็อย่าลืมหันมาจัดการเรื่องโบราณสถานอันล้ำค่าแห่งน้ีด้วยนะคร้าบ เพราะกองหินเหล่านี้เป็นส่วนที่รื้อออกมาเพื่อที่จะซ่อมแซมตามหลักการที่เรียกว่า "อะนาสตีโลซีส" (Anastylosis) แต่ทำไปทำมามีกองหินเหลืออยู่จำนวนมากยังไม่รู้ว่าจะเอาขึ้นไปไว้ตรงไหน ผมไปดูแล้วมีหลายก้อนสลักเรื่องราวและรูปภาพที่สื่อถึงความเชื่อและการแต่งกายของยุคนั้น